วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

จิบกาแฟ... แลเหยี่ยว เที่ยวชุมพร-ระนอง


เมื่อคิดถึงที่เที่ยวของชุมพร เรามักนึกถึงท้องทะเลและหาดทรายก่อนเพื่อน เพราะที่นี่มีท่าขึ้นเรือไปยังเกาะนางยวน เกาะเต่า และอีกสารพัดเกาะที่ชวนให้ไปเยือน ส่วนระนอง หากไม่นึกถึงน้ำแร่ เราก็มักคิดถึง เกาะพยาม ที่กำลังฮอตฮิตมาแรงแซงโค้ง แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งสองจังหวัดมีดีเพียงเท่านั้น... ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานชุมพร ชวน "นายรอบรู้" ไปเที่ยว จ. ชุมพร - จ. ระนอง เราไปแล้วพบว่า ที่นี่มีกิจกรรมท่องเที่ยวสนุกๆ มีรสชาติ และได้ความรู้อีกมากมายหลายแบบ เช่น การไปชิมกาแฟโรบัสตารสเข้มที่คั่วและชงกันสดใหม่ที่ก้องวัลเลย์ การชมฝูงเหยี่ยวอพยพนับแสนตัวอันน่าตื่นตาตื่นใจ บนเขาดินสอ อ. ปะทิว รวมไปถึงเที่ยวตลาดเทศบาลในตัวเมืองระนอง ที่มีสินค้าแปลกตามากมายจากพม่า หลายสิ่งน่าสนใจ จนอยากชวนคุณผู้อ่านมาเที่ยวด้วยกัน!
มีคนบอกว่าถ้ามาชุมพรแล้ว ควรหาโอกาสแวะไปสักการะศาลเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์สักครั้ง ศาลของท่านเป็นสถานที่ที่คนชุมพรเคารพศรัทธาอย่างยิ่ง ดังเป็นหนึ่งในคำขวัญของจังหวัดชุมพรว่า "ประตูภาคใต้ ไหว้เสด็จในกรม ชมไร่กาแฟ แลหาดทรายรี ดีกล้วยเล็บมือ ขึ้นชื่อรังนก"
กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์เป็นผู้วางรากฐานวิชาการทหารเรือตามแบบตะวันตกขึ้นในสยาม จึงมีผู้ตั้งสมญานามให้ว่า "พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย" บางทีคนก็เรียกพระองค์ด้วยความคุ้นเคยว่า "เสด็จเตี่ย" เนื่องจากในสมัยที่กรมหลวงชุมพรฯ ทรงบริหารโรงเรียนนายเรือนั้น ทรงไม่ได้ถือพระองค์ และโปรดให้นักเรียนเรียกพระองค์ว่า "เสด็จเตี่ย" ด้วยถือพระองค์เป็น "พ่อ" นักเรียนเป็น "ลูก" คนชุมพรนับถือกรมหลวงชุมพรฯ มาก โดยเฉพาะทหารเรือกับชาวประมง ในชุมพรมีศาลเสด็จในกรมหลายศาล ที่สำคัญมีอยู่ 2 แห่ง คือศาลหลังเดิมที่หาดทรายรี อ. เมือง ซึ่งเป็นสถานที่ประทับของพระองค์ตราบจนสิ้นพระชนม์ ศาลหลังเดิมนี้สร้างเป็นศาลบนเรือรบหลวงพระร่วงจำลองหันหน้าออกสู่ทะเล ศาลที่สำคัญอีกแห่งคือ ศาลเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์แห่งใหม่ บริเวณปากน้ำหลังสวน สร้างเป็นอาคารทรงเรือรบหลวงจักรีนฤเบศรจำลอง กว้าง 29 เมตร ยาว 79 เมตร สูง 6 เมตร นับเป็นศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ด้านล่างของศาล หรือบริเวณใต้ท้องเรือรบหลวงฯ จัดแสดงนิทรรศการประวัติและผลงานของพระองค์ท่าน ส่วนบนดาดฟ้าของเรือมีศาลที่ประดิษฐานรูปหล่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งจะมีผู้มานมัสการ จุดประทัด และยิงปืนแก้บนไม่ขาดสาย โดยเฉพาะกลุ่มชาวประมงที่เชื่อว่าพระองค์ท่านจะช่วยคุ้มครองให้ปลอดภัยจากอันตรายในท้องทะเล บนดาดฟ้าของเรือยังเป็นจุดชมทิวทัศน์ สามารถมองเห็นชายหาดที่ทอดยาวบริเวณปากน้ำหลังสวนได้ไกลสุดสายตา
เกาะพิทักษ์ - พิทักษ์ไว้ซึ่งวิถีชาวเลอันงดงาม
จากศาลกรมหลวงชุมพรฯ เราไปเที่ยวต่อที่เกาะพิทักษ์ อ. หลังสวน เกาะเล็กๆ ในทะเลอ่าวไทยที่คนที่นั่นยังดำรงวิถีชาวเลอันเรียบง่ายและงดงาม ที่มาของชื่อ "เกาะพิทักษ์" นั้น เล่ากันว่าครั้งหนึ่งในอดีต มีชายคนหนึ่งแล่นเรือหนีคดีความเข้ามาใกล้เกาะแห่งนี้แล้วเกิดได้ยินเสียงตะโกนเรียกให้ขึ้นเกาะ แต่เมื่อแล่นเรือไปใกล้กลับไม่พบคน เขาจึงคิดว่าเสียงนั้นคือ "ผีทัก"ชวนให้มาอยู่ด้วย ต่อมาชายผู้นี้จึงพาคนมาตั้งถิ่นฐานกลายเป็นต้นตระกูลของคนเกาะพิทักษ์ การจะข้ามไปเที่ยวนั้น เราต้องมารอเรือที่ท่าน้ำเกาะพิทักษ์ จ่ายค่าเรือคนละ 10 บาทต่อเที่ยว นั่งเรือ ไม่ถึง 20 นาที ก็จะได้ขึ้นฝั่งมาเที่ยวเล่นกันบนเกาะ "ผีทัก" ได้สมใจ
การทำประมง เปรียบเหมือนลมหายใจของคนที่นี่ ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านช่วยกันทำประมงแบบ "ลด ละ เลิก"ใช้เครื่องมือประมงทำลายล้างทุกประเภท จึงทำให้ทรัพยากรในทะเลบริเวณนี้ยังอุดมสมบูรณ์ หากมาเดินเล่นรอบเกาะ เราจะได้เห็นแผงปลาของชาวบ้านตากไว้เรียงรายเต็มชายหาด ชาวบ้านใช้เวลาว่างนั่งซ่อมอวน-เครื่องมือจับปลาที่สำคัญ เด็กๆ ดำผุดดำว่ายเล่นน้ำ ราวกับท้องทะเลคือสนามเด็กเล่นของพวกเขา ขณะที่ชาวบ้านบางกลุ่มตกเบ็ดหาปลาโดยใช้หนวดปลาหมึกเป็นเหยื่อ ได้ทั้งปลาอินทรีย์ ปลากุเรา และปลาเก๋า นอกจากนี้ยังจะได้เห็นทิวมะพร้าวเรียงรายริมหาด เพราะคนเกาะพิทักษ์ทำสวนมะพร้าวเป็นรายได้เสริมนอกจากการทำประมง หากสนใจจะพักค้างคืน ชาวบ้านก็ยินดีต้อนรับ ที่นี่มีบริการที่พักแบบโฮมสเตย์ ซึ่งได้บรรยากาศเหมือนเป็นลูกหลาน คิดราคาคนละ 550-800 บาท แลกกับการไปนอนฟังเสียงคลื่น ออกไปเล่นน้ำ และกินอาหารทะเลสดๆ อีก 3 มื้อนั้นช่างคุ้มแสนคุ้ม นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสนุกๆ อีก เช่น พายเรือคายัค ออกเรือไปไดหมึก หรือดำน้ำดูปะการัง ใครไปแล้วเกิดติดใจอยากพักค้างคืนแต่ไม่ได้เตรียมข้าวของเครื่องใช้มา ก็ไม่ต้องห่วง แม้เกาะพิทักษ์ไม่มี 7-11 มีแต่ "7- elephant" ให้ซื้อแปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ แชมพู ได้ทุกอย่าง ก่อนกลับ เราขอแนะนำของฝากขึ้นชื่อ คือ ปลาอินทรีย์เค็ม ซึ่งมีสูตรเฉพาะ คือนำไปหมักเกลือแล้วนำมาฝังทราย 25-30 วัน ก่อนนำขึ้นมาตากแดด จะทำให้ปลาเค็มมีรสอร่อยไม่เหมือนใคร ส่วนราคานั้นนับว่าถูกกว่าบนฝั่ง หากพลาดซื้อมาลองชิมแล้วจะเสียใจ
เหยี่ยวอพยพ: นักเดินทางจากแดนไกล
วันรุ่งขึ้น เราไปชมเหยี่ยวอพยพกันที่จุดชมวิวเขาดินสอ อ. ปะทิว จ. ชุมพร -- "เหยี่ยว" ในที่นี่ไม่ได้หมายถึงแค่เหยี่ยวอย่างเดียว หมายรวมถึงนกล่าเหยื่อ (Raptor) ทั้งเหยี่ยว อินทรี และอีแร้ง ซึ่งอาศัยอยู่ในดินแดนแถบขั้วโลกเหนือ ทั้งรัสเซีย มองโกเลีย และจีน เมื่อถึงเดือนกันยายน อากาศจะเริ่มหนาวเย็นและมีหิมะ ทำให้บรรดานกนักล่าเริ่มขาดแคลนอาหาร จึงต้องบินอพยพลงมาทางซีกโลกใต้ ซึ่งมีอากาศอบอุ่นและอาหารอุดมสมบูรณ์กว่า การบินข้ามน้ำข้ามทะเลอันยาวไกลนั้น ต้องใช้พลังงานมหาศาล นกจึงเลือกเส้นทางบินบนแผ่นดินมากกว่าบินเหนือทะเล เนื่องจากจะใช้ความร้อนจากแผ่นดินช่วยพยุงให้ลอยตัวไปเพื่อประหยัดพลังงาน ด้วยเหตุนี้เอง บริเวณที่พื้นที่แผ่นดินแคบอย่าง จ. ชุมพร จึงเหมือนเป็นทางคอขวด บีบให้ฝูงเหยี่ยวบินผ่านจำนวนมาก ทำให้เราสามารถมาชมฝูงเหยี่ยวอพยพได้ชัดเจน โดยเฉพาะบริเวณเขาดินสอแห่งนี้ รวมทั้งที่เทศบาล ต. ท่ายาง ใน อ. เมือง โดยสามารถดูได้ตั้งแต่เดือน ก.ย.-พ.ย. และเมื่อเหยี่ยวอพยพกลับ ในเดือน ก.พ.-พ.ค. จะชมได้อีกครั้ง ในวันที่เรามาชมนั้น เป็นวันเปิดงานเทศกาลดูเหยี่ยวอพยพ จ. ชุมพร ซึ่งจัดมาถึง 10 ปีแล้ว ครั้งนี้ได้เปิดอาคารศูนย์การศึกษาธรรมชาติเขาดินสอด้วย ในอาคารจัดแสดงเส้นทางบินอพยพหนีหนาวของเหยี่ยว จากไซบีเรีย ผ่าน จ. ชุมพร มุ่งไปสู่อินโดนีเซีย และภาพนกนักล่าชนิดต่างๆ ที่พบบริเวณนี้ด้วยเหยี่ยวจะบินสูงมากเหนือหัวเรา มองด้วยตาเปล่าจะเห็นตัวเล็กจิ๋วเหมือนแมงหวี่ ดังนั้นการจะชมให้ชัดเจนต้องใช้กล้องส่องทางไกลหรือเทเลสโคป ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าการดูเหยี่ยวขณะบินช่วยให้จำแนกประเภทของเหยี่ยวได้ง่ายกว่าดูนกยืนนิ่งในป่า เพราะเห็นลวดลายใต้ปีก และรูปร่างเหยี่ยวได้ชัดเจน
เหยี่ยวที่พบเห็นได้บ่อย ได้แก่ เหยี่ยวผึ้ง เหยี่ยวหน้าเทา เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน และยังพบนกหายากอย่าง เหยี่ยวทุ่ง อินทรีปีกลาย อินทรีเล็ก เหยี่ยวดำ แต่ที่พบมากที่สุดในช่วงปลายๆ เดือนตุลาคมซึ่งเป็นวันที่เราไปนั้น คือ เจ้าเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ หรือ "Black Baza" ฝูงใหญ่ที่บินมาโชว์ตัว ร่อนไปร่อนมาบนฟากฟ้าผ่านไปไม่ขาดสาย บางฝูงบินมากันหลายร้อยตัว เมื่อคว้ากล้องส่องทางไกลมาดูก็ช่างตื่นตาตื่นใจเป็นที่สุด
จากคอคอดกระสู่กาแฟรสเข้ม
ความทรงจำในอดีตย้อนคืนมาอีกครั้ง เมื่อเรามาถึง "คอคอดกระ" ซึ่งคุณครูสมัยประถมฯ พร่ำสอนให้จำขึ้นใจว่า เป็นส่วนที่แคบที่สุดของแหลมมลายู โดยมีระยะจากฝั่งทะเลทางตะวันตกจรดตะวันออก กว้างเพียง 45 กม. เมื่อมายืนตรงนี้เราจะมองเห็นแม่น้ำกระบุรี ไหลกั้นพรมแดนไทยกับพม่า อาจด้วยความแคบของแผ่นดินบริเวณนี้นี้เอง จ. ระนองจึงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมที่พัดพาฝนเข้ามาเกือบตลอดปี มีฝนตกชุกถึง 8 เดือน ที่เรียกว่า "ฝน 8 แดด 4" อันเป็นสภาพภูมิอากาศที่ทำให้กาแฟพันธ์โรบัสตาให้ผลดีจนเป็นของขึ้นชื่อ
เรามาตามรอยกาแฟกันที่ ก้องวัลเลย์ อ. กระบุรี จ. ระนอง สถานที่ที่คอกาแฟห้ามพลาด เนื่องจากคุณก้อง-สุพจน์ กรประสิทธิ์วัฒน์ เปิดบ้านของตนเองเป็นร้านกาแฟ ที่พัก และแหล่งเรียนรู้เรื่องการปลูกและคั่วกาแฟพันธุ์โรบัสตา เมล็ดกาแฟของที่นี่คัดสรรเมล็ดโดยใช้วิธีเดียวกับกาแฟอราบิกาที่ปลูกในภาคเหนือ กรรมวิธีที่โดดเด่นคือ การคั่วกาแฟแบบอาหรับโบราณ โดยใช้ไม้อบเชยซึ่งมีกลิ่นหอม คั่วเมล็ดกาแฟในกระทะเล็กๆ ทีละกระทะ คุณก้องบอกว่าเป็นการคั่วที่มี "emotion" เพราะสามารถคัดเมล็ดกาแฟที่ไม่มีคุณภาพออกได้ตามใจ ต่างกับการคั่วด้วยเครื่องคั่วอัตโนมัติ
หลังเรานั่งชมเมล็ดกาแฟถูกคั่วจนค่อยๆ เปลี่ยนสีจากขาวจนน้ำตาลเข้มอย่างเพลิดเพลิน คุณก้องก็เชื้อเชิญให้ชิมกาแฟเอ็กเพรสโซของเขา ที่ชงจากเมล็ดที่คั่วและบดใหม่ๆ กาแฟแก้วนี้จึงเป็นกาแฟที่สดที่สุด มาจากกรรมวิธีการทำอันมีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร จนได้กาแฟกลิ่นหอมกรุ่น และมีรสชาติเข้มข้นถึงใจตามแบบฉบับกาแฟโรบัสตาทุกประการ (ติดตามได้ ตอนที่ 2 เร็วๆนี้)

เรื่องและภาพ: ปณัสย์ พุ่มริ้ว

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น