วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เทศกาลองุ่นหวานและของดีดำเนินสะดวก ครั้งที่ 27


การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี ขอเชิญชวนท่องเที่ยวจังหวัดราชบุรี งาน "เทศกาลองุ่นหวานและของดีดำเนินสะดวก" ครั้งที่ 27 ประจำปี 2556 ระหว่างวันที่ 15-21 มีนาคม 2556 ณ บริเวณวัดราษฎร์เจริญธรรม (วัดสุน) อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
มีการประกวดธิดาองุ่นหวาน การประกวดพืชผัก ผลไม้ การออกร้านผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP กิจกรรมการแข่งขันกินก๊วยเตี๋ยว การแข่งขันชักเย่อเรือพาย การแข่งขันทำส้มตำผลไม้ลีลา การแข่งขันมวยทะเล และกิจกรรมตัดองุ่นลุ้นโชค พร้อมร่วมชมการแสดงดนตรีจากศิลปินชื่อดังทุกค่ำคืน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ว่าการอำเภอ ดำเนินสะดวก โทร. 0 3224 1204 หรือ  (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี โทร. 0 3247 1005-6 Facebook : Tat Phetchaburi

7 วิธี ดูแลเด็กบนเครื่องบิน


 การมีเด็กตัวน้อย ๆ มาร่วมเดินทางด้วยกันบนเครื่องบิน สามารถช่วยให้บรรยากาศสดใสขึ้น ทำให้ทริปนั้นสนุกขึ้นอีกไม่น้อย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ผู้ใหญ่อดห่วงไม่ได้ว่า ควรจะดูแลบุตรหลานของตัวเองอย่างไร เพราะนอกจากจะต้องห่วงสุขภาพของลูกแล้ว ยังต้องคอยดูแลไม่ให้เด็กไปรบกวนผู้โดยสารคนอื่น ๆ อีกด้วย -_-‘ แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะวันนี้กระปุกดอทคอมมีวิธีดูแลเด็กดี ๆ มาแนะนำกัน รับรองได้ว่าหากทำตามนี้ คุณจะสามารถพาเด็ก ๆ ไปเที่ยวได้ โดยไม่ต้องรู้สึกไม่สบายใจอีกต่อไป เพียงแค่ลองทำตามนี้ดู…


 1. ห้ามนำทารกอายุต่ำกว่า 7 วันไปด้วย
          การที่ไม่แนะนำให้นำทารกที่มีอายุต่ำกว่า 7 วัน ขึ้นเครื่องบินไปด้วยนั้น เนื่องจากปอดของทารกแรกเกิดยังไม่แข็งแรง และเครื่องบินจะมีความกดอากาศในห้องโดยสารค่อนข้างสูง อาจทำให้ทารกรู้สึกไม่สบายและอารมณ์เสีย หรือเกิดอันตรายอื่น ๆ ได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่แนะนำให้นำทารกอายุต่ำกว่า 7 วันขึ้นเครื่องบิน
 2. แจ้งปัญหาสุขภาพกับเจ้าหน้าที่
          หากบุตรหลานของคุณมีโรคประจำตัว ต้องแจ้งกับทางสายการบินให้ทราบ เพื่อจะได้พกยาหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นจะต้องใช้ไปได้โดยสะดวก นอกจากนี้ ถ้าหากมีอาการแพ้อาหารชนิดใดก็ต้องแจ้งด้วยเช่นกัน ก่อนขึ้นเครื่องควรศึกษาให้ดีว่าคุณต้องแจ้งกับหน่วยไหน และใช้หลักฐานอะไรบ้าง จะได้เตรียมเอกสารได้ครบถ้วน
 3. ให้เด็กกินยาแก้อาเจียนก่อนขึ้นเครื่อง
          เด็กบางคนอาจมีอาการอาเจียนเวลาเดินทางอยู่เป็นประจำ ทำให้เดินทางได้ลำบาก ทางที่ดีก็ควรเตรียมความพร้อมด้วยการให้กินยาแก้อาเจียนดักไว้ก่อน และควรจะให้ยาเด็กประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงก่อนขึ้นเครื่อง เพราะถ้าทานเร็วกว่านั้น ยาอาจหมดฤทธิ์ก่อนขึ้นเครื่องได้
 4. พกลูกอมหรือท๊อฟฟี่ไปด้วย
          อาการปวดหูเกิดจากการที่ความกดอากาศนอกหูเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ด้านในหูปรับไม่ทัน เพราะฉะนั้น เวลาเครื่องขึ้นหรือลงจะทำให้แม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเรายังปวดหู โดยเฉพาะช่วงที่เราเป็นหวัด ความสามารถในการปรับความดันของหูจะลดลง ยิ่งทำให้รู้สึกหูอื้อจนปวดหัว ทางที่ดีก่อนขึ้นเครื่องควรรักษาสุขภาพของตัวเองและเด็ก ๆ ให้ดีก่อน นอกจากนี้ ควรหาลูกอมหรือท๊อฟฟี่มาให้พวกเขาทานเล่น เพื่อดึงความสนใจจากอาการหูอื้อของเด็ก ๆ
 5. อย่าลืมพกของเล่นไปด้วย
           เป็นที่รู้กันดีว่าเด็กเล็กอยู่ในวัยซน ถ้าต้องนั่งนิ่งบนเครื่องบินหลายชั่วโมง ย่อมทำให้เจ้าตัวเล็กไม่พอใจ ทางที่ดีควรพกของเล่นเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ส่งเสียงรบกวนคนอื่นไปให้เด็กเล่นฆ่าเวลา เช่น หนังสือนิทานเด็ก หรือรูบิค ฯลฯ เด็กจะได้ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายกับการขึ้นเครื่องบิน คุณเองก็จะได้มีเวลาพักผ่อนบ้าง
 6. ให้เด็กนั่งข้างหน้าต่าง
          เพราะจะช่วยกันเด็กไม่ให้เล่นซุกซนจนโดนรถเข็นหรือพนักงานที่เดินผ่านไปมาชนเข้า หรือออกไปวิ่งเกะกะอยู่ตรงบริเวณทางเดิน แถมวิวข้างนอกยังสามารถช่วยหันเหความสนใจของพวกเขา ทำให้มีอะไรให้ดูเล่นจนเพลิน จะได้ไม่รู้สึกเบื่อ ไม่ส่งเสียงเอะอะโวยวายรบกวนผู้โดยสารคนอื่น
 7. อย่าทำให้เด็กกลัว
          การขึ้นเครื่องบินเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น และน่ากังวลใจสำหรับเด็ก ๆ หลาย ๆ คนอยู่แล้ว เพราะเด็กบางคนอาจกลัวความสูง ตกใจจากแรงกดอากาศที่ทำให้หูอื้อ หรือเด็กบางคนอาจขึ้นเครื่องบินครั้งแรก ทำให้รู้สึกตื่นกลัว ดังนั้น หากคุณดุพวกเขาด้วยน้ำเสียงเข้มงวดจะทำให้เขารู้สึกตกใจและเครียดยิ่งขึ้น ควรอธิบายให้เด็กเข้าใจ หรือหาอะไรให้เขาทำ เพื่อไม่ให้ส่งเสียงรบกวน
          เพียงทำตามเท่านี้ คุณก็สามารถเดินทางกับเด็ก ๆ โดยไม่ต้องรู้สึกกังวลเรื่องความปลอดภัยของเขาได้แล้ว นอกจากจะไม่ต้องทิ้งพวกเขาไว้ที่บ้านให้คอยเป็นห่วง ความน่ารักไร้เดียงสาของเด็ก ๆ พวกนี้ยังช่วยให้การเดินทางของคุณสนุกขึ้นอีกด้วย เชื่อได้เลยว่า ทริปนี้จะเป็นการไปเที่ยวแบบครอบครัวที่สนุกสนานอย่างแน่นอน

10 เคล็ดลับ แพ็คกระเป๋าให้จุคุ้ม


กระเป๋าเดินทาง
          เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงตั้งหน้าตั้งตารอวันหยุดยาวอยู่แน่ ๆ เพราะไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้ไปเที่ยวพักผ่อนให้รางวัลตัวเองอีกแล้ว และทุกคนคงเคยเจอปัญหาไม่มีกระเป๋าใบใหญ่พอจะนำไปทริป หรือ ต้องพกกระเป๋าใบใหญ่ ๆ หลายใบจนน่าปวดหัว แต่เชื่อเถอะว่า แค่กระเป๋าเดินทางใบเดียวก็เกินพอสำหรับทริปของคุณแล้ว เพียงคุณลองจัดกระเป๋าตามเทคนิคนี้ดู

 1. เลือกพกเสื้อผ้าแยกชิ้น

          คุณจะประหยัดเนื้อที่ได้อีกมาก หากใส่เสื้อผ้าแยกชิ้นแทนที่จะเอาเดรสไป คุณอาจใส่กระโปรงตัวเดิมซ้ำกันโดยไม่มีใครจับได้เลย เพียงแค่ลองเปลี่ยนเสื้อเท่านั้น เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องขนเสื้อผ้าไปมากเลย

 2. เน้นของสารพัดประโยชน์

          เลือกเอาของที่ใช้ประโยชน์ได้หลาย ๆ อย่างไป จะช่วยให้คุณใช้พื้นที่ได้เกินคุ้ม เช่น เพียงแค่นำผ้าพันคอผืนเล็ก ๆ ไปผืนเดียวก็สามารถใช้เป็นเครื่องประดับได้หลายแบบแล้ว ไม่ว่าจะใช้เป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ หรือนำมาพันแล้วผูกประดับแทนที่คาดผม นอกจากนี้หากเป็นผ้าพันคอที่สามารถใช้ได้ทั้งสองด้าน ก็จะยิ่งช่วยให้คุณได้มีลูกเล่นในการแต่งตัวมากขึ้น

 3. อย่าจัดของชิ้นใหญ่ไว้ในกระเป๋า

          ถ้าจะไปเมืองหนาว แล้วจำเป็นต้องพกเสื้อหนาวหนา ๆ ไปด้วย ก็ควรสวมไปเลย แทนที่จะยัดลงกระเป๋า จะช่วยให้คุณประหยัดพื้นที่ได้อีก เพราะเสื้อหนาวหนา ๆ แม้จะไม่ได้มีน้ำหนักมาก แต่ความหนาจะทำให้กินเนื้อที่กระเป๋าอีกเยอะ

 4. เลือกวางของหนัก ๆ ไว้ล่างสุด

          ควรจัดของหนัก ๆ อย่างรองเท้าไว้ล่างสุดของกระเป๋า เพื่อจะได้ไม่ทับของชิ้นอื่นเสียหาย นอกจากนี้ควรจะเลือกรองเท้าที่เหมาะกับทุกสถานการณ์ จะได้ไม่ต้องนำไปหลายคู่ ช่วยให้กระเป๋าเดินทางของคุณเบาขึ้นอีก

 5. จัดเสื้อผ้าให้ถูกวิธี

          ควรเก็บเสื้อผ้าด้วยวิธีม้วนแทนการพับ เพราะใช้พื้นที่น้อยกว่า และเสื้อก็ยังไม่ยับอีกด้วย หากมีเสื้อที่สามารถใส่ได้ทั้งสองด้าน ก็ควรจะจัดไปด้วย จะทำให้คุณไม่ต้องพกเสื้อผ้าไปมาก 

 6. เลือกชุดบาง ๆ

          ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงชุดบางเบาชนิดซีทรู แต่หมายความว่าควรเลือกเสื้อที่มีเนื้อผ้าบาง ๆ แทนตัวหนา ๆ เพื่อให้กินพื้นที่น้อยลง เช่น เสื้อผ้าเนื้อบางเบาอย่างเสื้อชีฟอง เพราะจะช่วยให้คุณประหยัดพื้นที่สำหรับใส่เสื้อผ้ามากขึ้น จะได้มีที่เหลือไว้ใส่ของอย่างอื่นเพิ่ม

 7. เอาเครื่องประดับไปด้วย

          อย่าทิ้งเครื่องประดับไว้ที่บ้านเฉย ๆ ควรพกใส่กระเป๋าเดินทางไปด้วย เพราะเครื่องประดับชิ้นเล็ก ๆ นั้นกินพื้นที่ไม่มาก แถมยังช่วยทำให้คุณดูดีขึ้นได้อีกเยอะ อย่างไรก็ตาม เครื่องประดับส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก คุณจึงควรใส่ซองแยกไว้รวมกัน เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา

 8. วางของที่ใช้คู่กันไว้ด้วยกัน

          ควรเอาของชิ้นเล็ก ๆ วางไว้ในของชิ้นใหญ่ที่ใช้คู่กัน เช่น ม้วนถุงเท้าใส่ไว้ในรองเท้า และสอดเนคไทไว้ในเสื้อเชิ้ต จะช่วยให้คุณประหยัดเนื้อที่ แถมยังหาได้สะดวกขึ้นอีกด้วย

 9. ใส่เครื่องสำอางไว้ในกระเป๋าแยก

          ของจุกจิกทุกอย่างทั้งเครื่องสำอางและครีมบำรุงผิวต่าง ๆ ควรใส่แยกไว้ในกระเป๋าใบเล็กเพื่อให้หยิบใช้ได้ง่าย และวางของที่แตกง่ายไว้บนสุด ไม่ให้ถูกของชิ้นอื่นทับเอาได้

 10. ลองยกกระเป๋าดู

          หลังจากจัดเสร็จแล้วก็ลองยกกระเป๋าของคุณขึ้นดูว่ามันหนักเกินไปไหม ถ้าหากคิดว่ามันยังหนักเกินไป และยังมีของใช้ไม่จำเป็นที่คุณยังพอจัดออกไปได้ ก็ลองจัดกระเป๋าดูใหม่ดูอีกที จนกว่าจะได้แบบที่คุณพอใจ

10 สิ่งที่ควรทำ เพื่อความปลอดภัยในทริปของคุณ



 
          บางครั้งการไปเที่ยวในที่ไกล ๆ ที่คุณไม่คุ้นเคยกับเส้นทาง ก็อาจเป็นการนำความเสี่ยงเข้ามาในชีวิตของตัวเองโดยไม่รู้ตัว เพราะอาจมีคนที่ไม่หวังดีกับคุณฉวยโอกาสเข้ามาขโมยทรัพย์สิน หรืออาจถึงขั้นทำร้ายร่างกายของคุณได้ เพราะฉะนั้นเวลาออกไปเที่ยวที่ไหนก็ตาม ก็ควรจะดูแลตัวเองให้ดี และรอบคอบอยู่ตลอดเวลา ด้วยการทำตามวิธีเที่ยวให้ปลอดภัยเหล่านี้
 
 1. เก็บของมีค่าไว้ ไม่ให้ใครเห็น

          ควรเลี่ยงการใส่พวกเครื่องประดับราคาแพง ไม่ว่าจะเป็นของแท้หรือของปลอม รวมถึงหลีกเลี่ยงการถืออุปกรณ์แพง ๆ จำพวกกล้องถ่ายรูปหรือไอแพดไปมาด้วย เพราะจะทำให้คุณกลายเป็นเป้าสายตาของเหล่ามิจฉาชีพ ที่หวังจะนำของเหล่านี้ไปขาย นอกจากนี้ ไม่ควรถือเงินสดจำนวนมากในที่สาธารณะนาน ๆ เมื่อต้องจ่ายเงินหรือได้รับเงินทอน ให้รีบเก็บลงกระเป๋าทันที จะได้ไม่มีใครหมายตาเงินของคุณ
 
 2. เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นไปด้วย
 
          อย่างแรกที่สำคัญที่สุด คือยาที่คุณต้องทานเป็นประจำ อย่าคิดว่าจะซื้อเมื่อไปถึงโรงแรม เพราะที่โน่นอาจไม่มียาที่คุณต้องการก็ได้ จะทำให้สุขภาพของคุณย่ำแย่เสียเปล่า ๆ นอกจากนี้ ควรพกของจิปาถะอื่น ๆ ที่อาจต้องใช้ในกรณีฉุกเฉินไปด้วย เช่น ไฟฉาย พลาสเตอร์ ยาแก้แฮงค์ และยากันยุง คุณจะได้พร้อมที่จะรับมือทุกสถานการณ์
 
 3. รถที่ใช้เดินทางก็สำคัญ

          หากคุณไม่ได้ไปด้วยรถของตัวเอง เวลาที่ใช้บริการแท็กซี่ ควรเลือกแท็กซี่ที่มีป้ายว่ามาจากศูนย์ไหนเป็นเรื่องเป็นราว ห้ามใช้บริการแท็กซี่ส่วนบุคคลเด็ดขาด เพราะถ้าหากเกิดปัญหาอะไรขึ้น คุณจะหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ นอกจากนี้ ควรจำเลขทะเบียนก่อนขึ้นรถให้ดี ถ้าหากเลขทะเบียนที่เขียนอยู่ในรถไม่ตรงกับที่ท้ายรถ ควรลงจากรถทันที อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณเลือกที่จะเช่ารถเพื่อการเดินทาง ก็ควรเช่าจากบริษัทที่มีชื่อเสียงเชื่อถือได้เท่านั้น และควรจอดรถในที่มีคนพลุกพล่าน ห้ามจอดรถในที่เปลี่ยวเด็ดขาด

 4. เลือกห้องพักเพื่อความปลอดภัย

          โรงแรมที่คุณพัก ควรเป็นโรงแรมที่ใช้คีย์การดในการเปิดประตูเท่านั้น นอกจากนี้ หากมีกลอนประตูให้ล็อคเสริมก็ควรล็อคเอาไว้ด้วย เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง ยิ่งไปกว่านั้น หากมีโอกาสก็ควรเลือกพักในห้องที่อยู่ติดกับบันได เผื่อในกรณีเกิดไฟไหม้ คุณจะได้สามารถหนีทางบันไดได้ทันที
 
 5. ระวังคนแปลกหน้าเอาไว้
 
          อย่ารับเครื่องดื่มหรือแชร์แท็กซี่กับคนแปลกหน้าเด็ดขาด แม้ว่าเขาจะดูไม่มีพิษภัยแค่ไหนก็ตาม เพราะเขาอาจเป็นมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาก็ได้ นอกจากนี้ หากพบเด็กหลงทางมาขอใหคุณช่วย ก็ควรนำเขาไปส่งตำรวจ แทนที่จะพาไปที่อยู่ตามป้ายชื่อที่แขวนเอาไว้ เพราะบางครั้งเด็กอาจถูกมิจฉาชีพจ้างวานมาโดยที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลยก็ได้ ที่สำคัญอย่าพูดถึงข้อมูลส่วนตัวและที่อยู่รวมถึงเบอร์ห้อง ในระยะที่คนแปลกหน้าได้ยิน เพราะเขาอาจเป็นผู้ที่หวังใช้ประโยชน์จากข้อมูลของคุณก็ได้
 
 6. โทรศัพท์มือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
 
          หากว่าโทรศัพท์มือถือของคุณไม่สามารถใช้ได้ในต่างประเทศ คุณควรใช้บริการเช่าโทรศัพท์มือถือจากบริษัทที่ดูน่าเชื่อถือแทน เพราะคุณควรมีโทรศัพท์มือถือไว้ใช้ เพื่อโทรขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ นอกจากนี้ ควรพกของที่มีเสียงดัง เช่น นกหวีด เอาไว้ด้วย จะได้ใช้ในกรณีฉุกเฉินที่ไม่สามารถโทรศัพท์ออกไปหาใครได้
 
 7. ควรระวังเป็นพิเศษในกรณีที่พาเด็กไปด้วย
 
          บางครั้งเด็ก ๆ ก็อาจซุกซนจนหลงกับเราได้ง่าย ๆ เราจึงควรเตรียมอุปกรณ์ไว้เพื่อให้พร้อมที่จะรับมือในเวลาที่เด็กหลงทางกับเรา ด้วยการให้ลูกสวมป้ายชื่อที่เขียนที่อยู่ของโรงแรมเอาไว้ด้วย ในขณะที่ออกไปข้างนอก ตำรวจจะได้สามารถนำเขามาส่งได้ถูก นอกจากนี้ คุณควรพกรูปถ่ายของเขาเอาไว้กับตัวด้วย จะได้สามารถถามคนรอบข้างได้ โดยไม่ต้องอธิบายลักษณะของเด็กมาก
 
 8. การใช้ Social network ผิด ๆ อาจอันตรายกว่าที่คุณคิด
 
          หลีกเลี่ยงการโพสต์ข้อความจำพวก ตอนนี้คุณอยู่ที่ไหน ทำอะไร ตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง หรือไปกันกี่คน เพราะอาจทำให้คนที่ไม่หวังดี แอบตามคุณมาได้ นอกจากนี้ ยังทำให้สถาการณ์ที่บ้านของคุณไม่ปลอดภัยอีกด้วย เพราะมันเหมือนเป็นการบอกพวกโจรอ้อม ๆ ว่า ตอนนี้ไม่มีใครอยู่บ้าน พวกเขาสามารถเข้าไปปล้นบ้านของคุณได้ตามใจชอบเลย
 
 9. รับมือให้ถูกในกรณีที่โดนกระชากกระเป๋า
 
          พยายามอย่าไปในที่เปลี่ยว เพราะที่นั่นมักจะมีโจรซุ่มรอคุณอยู่ โดยเฉพาะผู้หญิงทั้งหลายที่มักจะเป็นเป้าหมายในการขโมยกระเป๋าถือของพวกโจรเสมอ เพราะพวกเธอมักใช้กระเป๋าแบรนด์เนมราคาแพง ๆ และไม่มีเรี่ยวแรงมากพอที่จะต่อสู้ อย่างไรก็ตาม หากมีโจรที่มาพร้อมอาวุธมาขู่บังคับเอากระเป๋าของคุณ ควรให้เขาไปแต่โดยดีจะดีกว่า เพราะการเสียกระเป๋าย่อมดีกว่าการบาดเจ็บมากไปกว่านั้นแน่นอน ยิ่งไปกว่านั้น อย่าเสนอมอบเงินให้เขาแทน แล้วเปิดกระเป๋าเพื่อหยิบเงินเด็ดขาด เพราะเขาจะคิดว่าคุณพยายามหยิบอาวุธจากกระเป๋ามาสู้กับเขาเสียมากกว่า และเขาจะตรงเข้าทำร้ายคุณทันที
 
 10. บอกข้อมูลกับคนที่ไว้ใจได้ไว้ด้วย
 
          ควรบอกข้อมูลของคุณกับใครสักคนที่คุณเชื่อใจ และไม่ได้มาเที่ยวกับคุณในครั้งนี้ด้วย  ซึ่งสมาชิกในครอบครัวน่าจะเป็นคนที่เหมาะสมที่สุด ควรบอกที่อยู่โรงแรมและเบอร์ห้องที่คุณอยู่ รวมทั้งถ่ายเอกสารพาสปอร์ต บัตรเครดิต และบัตรประชาชนของคุณทิ้งไว้ให้เขาอย่างละใบ หากเกิดอะไรขึ้น จะได้มีคนที่รู้ควาเป็นไปของคุณ และสามารถสืบหากับตำรวจได้ถูก

10 สิ่ง ควรรู้ก่อนไปพักร้อนกับเพื่อน ๆ


10 สิ่ง ควรรู้ก่อนไปพักร้อนกับเพื่อน ๆ


          วันหยุดสุดสัปดาห์ เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจกำลังวางแผนว่าจะไปเที่ยวที่ไหนดี ทะเล ภูเขา หรือต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม นอกจากวางแผนหาที่เที่ยวแล้ว ก็ควรตกลงเรื่องจุกจิกอย่างโปรแกรมที่จะทำและค่าใช้จ่ายของคุณให้ดีก่อนไปด้วย เพื่อที่คุณจะได้มีทริปที่สนุกสนาน โดยไม่ต้องมามีปัญหากันทีหลัง 
          ทั้งนี้ หากคุณเป็นอีกคนที่กำลังวางแผนจะไปเที่ยวพักผ่อนกับเพื่อน ๆ อยู่ ลองอ่าน 10 สิ่งที่ควรทำเวลาไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ ที่เรานำมาแนะนำกันดู เผื่อคุณกับเพื่อน ๆ จะได้มีเวลาที่ดีร่วมกันมากขึ้นอีกนะคะ
1. ตกลงเรื่องเงินกันก่อน
          ใคร ๆ ก็รู้ว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องละเอียดอ่อนขนาดไหน ถ้าไม่คุยกันเรื่องค่าใช้จ่ายก่อนไป อาจจะทำให้ทะเลาะกันทีหลังได้ ควรตกลงกันไว้ก่อนเลยว่าจะจำกัดงบประมาณ สำหรับค่าที่พัก ค่ากิน หรือค่าน้ำมันเท่าไหร่ และจะแชร์กันจ่ายอย่างไร นอกจากนี้ ในกรณีที่ขับรถไปกันเองก็ควรตกลงกันก่อนด้วยว่าใครจะเป็นคนขับด้วย
2. วางแผนร่วมกัน
          ก่อนจะไปเที่ยว ควรคุยกันว่าจะวางโปรแกรมอย่างไร จะไปที่ไหน ทำอะไรบ้างในแต่ละวัน จะได้เลือกทำอะไรที่คุณชอบร่วมกันบ้าง หรือผลัดกันเลือกก็ได้ เพื่อให้ได้ทำในสิ่งที่ทุกคนชอบเปลี่ยน ๆ กันไป และจะได้เปลี่ยนบรรยากาศไปทำกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ไม่เคยลองกันอีกด้วย
 3. เตรียมใจก่อนเข้าสนามบิน 
          ถ้าหากนี่เป็นครั้งแรกที่คุณเดินทางข้ามประเทศล่ะก็ เตรียมใจรับมือกับการตรวจในสนามบินให้ดี เพราะการตรวจค่อนข้างเข้มงวดมาก จนคุณไม่สามารถแม้แต่จะสวมพวกเข็มขัดโลหะเข้าไปได้ ดังนั้น ควรแพ็คของอย่างระมัดระวัง ไม่นำพวกส้อม มีด หรือ กรรไกรไปด้วย นอกจากนี้ก็ไม่ควรสวมพวกเครื่องประดับโลหะไปด้วย
4. คุณกับเพื่อนชอบเที่ยวกลางคืนหรือเปล่า
          หากคุณเป็นคนรักการเที่ยวกลางคืนเป็นชีวิตจิตใจ ในขณะที่เพื่อนของคุณชอบนอนเร็ว ๆ เพื่อจะได้ตื่นมาสูดอากาศบริสุทธิ์ตอนเช้า พวกคุณก็ควรขอคีย์การ์ดหรือกุญแจสำรองเพิ่มกับพนักงานด้วย คุณจะได้ไปเที่ยวนานเท่าไหร่ก็ได้โดยไม่ต้องกังวลกับเวลากลับที่พัก และเพื่อนของคุณก็ยังสามารถหลับสบายได้โดยไม่ต้องเปิดประตูให้คุณกลางดึกด้วย
5. ชวนเพื่อนให้เหมาะกับที่ที่จะไปด้วย
          แม้จะสนิทกันแค่ไหน แต่หากเขาเป็นคนที่ไม่ชอบการเที่ยวแบบเดียวกับคุณและเพื่อนคนอื่นแล้วล่ะก็ ค่อยชวนเขาไปทริปหน้าที่เหมาะกับเขาจะดีกว่า เพราะทั้งคุณและเขาจะสนุกกับทริปนั้นได้น้อยลงทั้งคู่ เช่น ถ้าคุณพาเพื่อนที่เกลียดการเที่ยวแบบลุย ๆ ไปปีนเขาด้วย เขาก็คงไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ คุณเองก็จะเบื่อกับเสียงบ่นของเขาที่ออกมาเป็นระยะ ๆ อีกด้วย
6. เตรียมรับมือทุกสถานการณ์
          ไม่มีทริปไหนหรอกที่เป็นได้อย่างใจคุณทุกอย่าง เหตุการณ์ที่คุณไม่ได้คิดเอาไว้เกิดขึ้นได้เสมอแหละ ดังนั้น จงเตรียมพร้อมรับมือเรื่องไม่คาดฝันทุกอย่าง และอย่าอารมณ์เสียเวลาที่อะไร ๆ ไม่เป็นไปอย่างที่คุณคิด เตรียมแผนสำรองสำหรับทริปของคุณไว้ให้ดี
7. แบ่งหน้าที่กันให้ดี
          การที่ทุกคนได้แบ่งความรับผิดชอบกันจะทำให้งานต่าง ๆ เสร็จเร็วขึ้น และยังทำให้รู้สึกสนุกที่ได้มีส่วนร่วมกันทุกคนอีกด้วย ดังนั้น หากคุณอยากลองทานบาร์บีคิวเป็นอาหารค่ำสักมื้อ ก็ตกลงกันเลยว่าใครจะเป็นคนย่าง ใครจะเป็นคนจัดโต๊ะ และใครจะเป็นคนล้างจาน จะได้มีมื้ออร่อย ๆ และได้ใช้เวลาดี ๆ ร่วมกัน
8. เผื่อเวลาเป็นส่วนตัวไว้ด้วย
          ถึงแม้คุณกับเพื่อน ๆ จะไปสนุกด้วยกัน แต่ก็ควรให้เวลาเป็นส่วนตัวกันบ้าง ซึ่งในระหว่างนี้ใครอยากแยกย้ายไปทำอะไรก็ได้ จะได้ไม่รู้สึกอึดอัดที่ต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา คุณอาจใช้เวลานี้แอบไปเดินเที่ยวช้อปซื้อของฝากคนที่บ้านให้สะใจ หรือไปสปาดี ๆ เพื่อผ่อนคลายก็ได้
9. สารภาพพฤติกรรมตอนนอนของตัวเอง
          อาจจะมีบางอย่างที่คุณอดอายไม่ได้หากต้องบอกเพื่อน ๆ เช่น นอนกรน นอนกัดฟัน นอนละเมอ ฯลฯ แต่ไม่ว่าอย่างไร คุณก็ต้องทำใจบอกเพื่อนก่อนจะไปเที่ยวด้วยกัน เพราะเมื่อไปถึงหากคุณกรนเสียงดัง เขาก็จะรู้กันหมดอยู่ดี เพราะฉะนั้น สารภาพออกมาเลยดีกว่า จะได้รู้ไปเลยว่าเพื่อน ๆ รับได้หรือไม่ หากพวกเขาไม่สามารถทนได้ ก็ค่อยแยกห้องนอนเอาก็แล้วกัน
10. แพ็คกระเป๋าให้ดี
          สำรวจภูมิอากาศของที่ ๆ คุณจะไปในช่วงนั้นดู แล้วเลือกแพ็คเสื้อผ้าให้เข้ากับอากาศที่โน่น นอกจากนี้ ก็ควรแพ็คแต่ของที่จำเป็นไปเท่านั้น อะไรที่สามารถแบ่งกันใช้กับเพื่อนได้ก็ควรตกลงกันก่อนไป จะได้ลดของที่ต้องเอาไปให้น้อยลง เช่น ไม่พกเครื่องสำอาง แล้วแบ่งกันใช้กับเพื่อนแทน ส่วนคุณก็พกเครื่องประดับไปแบ่งเพื่อนใช้ด้วย เท่านี้ก็จะช่วยให้ทั้งคุณและเพื่อนมีกระเป๋าเดินทางที่เบาลงแล้ว

3 วิธีง่าย ๆ เพื่อประหยัดงบในทริปของคุณ




          สมัยนี้เราต้องพยายามใช้เงินอย่างประหยัดกันให้มากขึ้น เพราะข้าวของมีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ค่าครองชีพเพิ่มตัวสูงขึ้งตามไปด้วย ถึงอย่างนั้น การออกไปเที่ยวพักผ่อนก็ยังเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพื่อให้เราได้เปลี่ยนบรรยากาศ และผ่อนคลายจากเรื่องเครียด ๆ ต่าง ๆ นานา แต่แหม...การไปเที่ยวแต่ละครั้งก็ดูจะใช้เงินมากเหลือเกิน เพราะไหนจะค่าตั๋ว ค่ากิน ค่าที่พัก ค่าของฝาก และยังค่าเที่ยวอีก วันนี้เราจึงได้นำเคล็ดลับดี ๆ ในการลดรายจ่ายในทริปของคุณมาฝาก ลองมาอ่านกันดูเลยค่ะ

 1. มองหาที่พักราคาปานกลาง

          คุณไม่จำเป็นต้องจองห้องพักราคาแพงเสมอไป แค่ห้องพักราคาปานกลางก็เพียงพอแล้ว เพราะแม้จะไม่ได้ดูหรูหรา แต่คุณก็จะได้รับความสะดวกสบายอย่างเต็มที่เช่นกัน แถมบางครั้งคุณยังสามารถขอเครื่องอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมจากทางโรงแรมได้อีกด้วย ในขณะเดียวกัน ใช่ว่าการจองที่พักล่วงหน้าจะดีกว่าเสมอไป ลองเช็คอินในช่วง 4 - 6 โมงเย็นที่หน้าเคาน์เตอร์ดูบางก็ได้ เพราะโรงแรมมักจะได้รับรายงานเรื่องห้องที่ถูกยกเลิกในช่วงเวลานี้เสมอ คุณจึงอาจได้ห้องเหล่านี้มาเป็นของตัวเองพร้อมข้อเสนออื่น ๆ เพิ่มเติมด้วยก็ได้

 2. จองตั๋วให้ถูกวิธี

          ควรหลีกเลี่ยงการจองตั๋วจำพวก flexible fares เว้นแต่ว่าจะจำเป็นจริง ๆ เพราะแม้ตั๋วประเภทนี้จะช่วยให้ความสะดวกตรงที่คุณสามารถปรับเปลี่ยนเวลาได้ตามใจชอบ แต่ก็มักจะมีราคาแพงกว่าตั๋วแบบปกติ เพราะฉะนั้น ควรกำหนดวันให้แน่นอน แล้วจึงค่อยจองตั๋วสำหรับทริปของคุณ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการจองตั๋วในช่วงเทศกาลด้วย เพราะราคามักจะถูกปรับให้แพงขึ้นอีกเสมอ

 3. ศึกษาข้อมูลท้องถิ่น

          เชื่อเถอะว่าข้อมูลทุกอย่างนั้นมีให้คุณค้นหาตามอินเทอร์เน็ตได้ง่าย ๆ แถมยังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ อีกด้วย เพียงแค่ใช่เวลาอ่านรีวิวการท่องเที่ยวตามเว็บไซต์ คุณก็จะได้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น สถานที่น่าเที่ยว แหล้งช้อปปิ้งของที่ระลึกถูก ๆ รวมถึงร้านอาหารอร่อยราคาประหยัดด้วย อย่างไรก็ดี ควรหาข้อมูลจากเว็บไซต์ที่ดูเชื่อถือได้หลาย ๆ ที่ เพื่อเปรียบเทียบข้อมูล และเพื่อให้คุณได้มีตัวเลือกเพิ่ม

ขอวีซ่าญี่ปุ่น เตรียมตัวอย่างไร


 
          สำหรับนักท่องเที่ยวมือใหม่ที่กำลังเตรียมตัวไปเยือนประเทศญี่ปุ่น การขอวีซ่าคือสิ่งจำเป็นสิ่งแรกที่ขาดไม่ได้ ดังนั้นวันนี้กระปุกดอทคอมจึงขอรวบรวมข้อมูลในการเตรียมตัวเพื่อขอวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่น มาฝากกันนะคะ
 
เอกสารหลัก ๆ ที่ต้องเตรียม

           1. หนังสือเดินทางที่มีหน้าว่างมากกว่า 2 หน้าขึ้นไป (หากมีหนังสือเดินทางเล่มเก่า ให้นำไปแสดงด้วย)

           2. รูปถ่าย สี หรือ ขาวดำ ก็ได้ ขนาด 2x2 นิ้ว (ถ่ายมาไม่เกิน 6 เดือน)

           3. ทะเบียนบ้านฉบับจริง และสำเนา 1 ชุด

           4. แบบฟอร์มขอวีซ่าญี่ปุ่น 1 ชุด เซ็นต์ชื่อให้เรียบร้อย

           5. แบบสอบถามเพื่อขอวีซ่า 1 ชุด

           6. สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารฉบับจริง และสำเนาทุกหน้า 1 ชุด

           6.1 หากเป็นข้าราชการ พนักงานราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานมหาวิทยาลัย หรือพนักงานบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีเงินเดือน  20,000 บาทขึ้นไป ไม่ต้องยื่นสมุดบัญชีเงินฝาก

           7. กรณีเป็นพนักงาน หรือ ข้าราชการ ให้แสดงหนังสือรับรองการทำงานจากต้นสังกัด (โดยระบุตำแหน่ง, วันเริ่มทำงาน, อัตราเงินเดือน และระยะเวลาวที่ลาพักร้อน ให้ครบถ้วน)

           7.1 กรณีประกอบกิจการส่วนตัว ให้แสดงหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท หรือ ทะเบียนการค้าจากกระทรวงพาณิชย์

           7.2 กรณีนักเรียนนักศึกษาที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ให้แสดงหนังสือรับรองสถานภาพการเป็นนักเรียนนักศึกษา และหนังสือรับรองการทำงาน หรือหนังสือรับรองจดทะเบียนบริษัท หรือทะเบียนการค้าของผู้อุปการะ

           7.3 กรณีผู้อยู่ภายใต้อุปการะเลี้ยงดู เช่น แม่บ้านที่ไม่ได้ทำงาน ให้แสดงหนังสือรับรองการทำงานหรือธุรกิจของผู้อุปการะ (โดยเอกสารจะต้องออกมาไม่เกิน 3 เดือน)

           8. หากมีการเปลี่ยนแปลง ชื่อ-นามสกุล ให้เตรียมเอกสารการเปลี่ยนชื่อ-สกุล, ทะเบียนสมรส (ถ้ามี), ทะเบียนหย่า (ถ้ามี) ทั้งฉบับจริงและสำเนา 1 ชุด

เอกสารเพิ่มเติมแยกตามแต่ละประเภทของวีซ่า

 วีซ่าประเภทที่ 1 ท่องเที่ยว เยี่ยมเพื่อน หรือคนรู้จัก

          กรณีไปเยี่ยมเพื่อนหรือคนรู้จักในญี่ปุ่น ต้องมีเอกสารรับรองเหตุผลในการเดินทาง, จดหมายรับรองความสัมพันธ์ (อธิบายว่ารู้จักกันอย่างไร), รูปถ่ายคู่กัน, จดหมายที่ติดต่อกัน, สำเนาหนังสือเดินทางของเพื่อนหรือคนรู้จักที่จะไปเยี่ยม

 วีซ่าประเภทที่ 2 เยี่ยมญาติ

          เอกสารแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ยื่นกับญาติที่อยู่ในญี่ปุ่น เช่น ทะเบียนบ้านไทย หรือ หนังสือรับรองคนต่างด้าวของญาติ (ออกมาไม่เกิน 3 เดือน) ฉบับจริงและสำเนา 1 ชุด

 วีซ่าประเภทที่ 3 ติดต่อธุรกิจ หรือฝึกอบรม

          - เอกสารแสดงถึงภารกิจในญี่ปุ่น อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น

          · หนังสือเชิญจากบริษัทในญี่ปุ่น

          · หนังสือแสดงเหตุผลในการเดินทางจากบริษัทต้นสังกัด

          · หนังสือรับรองการฝึกงาน และแผนการฝึกงาน รวมทั้งชี้แจงว่ามีการได้เบี้ยเลี้ยงหรือไม่

 วีซ่าประเภทที่ 4 ติดต่อธุรกิจแบบเดินทางหลายครั้ง (Multiple)

          - หนังสือแสดงเหตุผลในการขอวีซ่าแบบ Multiple 1 ชุด

          - บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องใช้ หนังสือรับรองจากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

          - องค์กรธุรกิจที่ดำเนินการโดยรัฐ หรือ องค์กรของราชการ ไม่ต้องแสดงเอกสารยืนยัน

          - บริษัทลูก หรือ บริษัทร่วมทุน ที่จดทะเบียนหลาดหลักทรัพย์ในญี่ปุ่น แสดงเอกสารของบริษัท และหลักฐานการจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ในญี่ปุ่น

          - บริษัทที่ทำธุรกิจกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น ต้องใช้ เอกสารเชิญจากบริษัทในญี่ปุ่น และหลักฐานการจดทะเบียนหลักทรัพย์ของบริษัทที่เชิญ

          - บริษัทที่มีสาขาในญี่ปุ่น และ เป็นสมาชิกของหอการค้าญี่ปุ่นในประเทศไทย (JCC) ให้แสดงเอกสารการเป็นสมาชิก รวมถึงที่อยู่สำนักงานในญี่ปุ่น

          - บริษัทที่เป็นสมาชิกกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ และมีทุนจดทะเบียนบริษัทตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป ต้องใช้เอกสารการเป็นสมาชิก และเอกสารยืนยันว่ามีการดำเนินธุรกิจจริง เช่น ใบกำกับสินค้า เป็นต้น

 วีซ่าประเภทที่ 6 การเข้าประเทศญี่ปุ่นระยะสั้น (Transit) เช่น การต่อเครื่องบิน

          - ตั๋วเครื่องบินฉบับจริง (ระบุวันที่ และ เส้นทางเข้า-ออกประเทศญี่ปุ่นให้ชัดเจน)

          - ถ้าเป็นตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีใบยืนยันเส้นทางการบิน จากสายการบินด้วย

 วีซ่าประเภทที่ 8 คู่สมรสชาวญี่ปุ่น

          - ใบทะเบียนสมรส

          - ทะเบียนครอบครัวของคู่สมรสชาวญี่ปุ่น

          - เอกสารกำหนดการที่วางแผนไว้ ตลอดเวลาที่อยู่ในญี่ปุ่น (รายละเอียดวันต่อวัน)

อัตราค่าธรรมเนียมในการขอวีซ่า

          - วีซ่าทั่วไป 1,120 บาท

          - วีซ่า Multiple (สำหรับการเดินทางหลายครั้ง) 2,260 บาท

          - วีซ่าทรานซิท (สำหรับการเดินทางผ่าน) 260 บาท

เวลาทำการ

          1. การยื่นคำร้องขอวีซ่าทุกประเภทยกเว้นในข้อ 2  ผู้ยื่นคำร้องขอวีซ่าจะต้องติดต่อที่ศูนย์รับยื่นขอวีซ่าประเทศญี่ปุ่น (JVAC) ณ อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 15 ยูนิต C เลขที่ 191 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500

           การรับคำร้องขอวีซ่า จันทร์ – ศุกร์ เวลา 08:30 น. - 17:30 น. (ไม่มีพักกลางวัน)

           การรับหนังสือเดินทางคืน วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08:30 น. - 17:30 น. (ไม่มีพักกลางวัน) และ วันเสาร์ เวลา 08:30 น. - 12:30 น.

          2. การยื่นคำร้องขอวีซ่าสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต หนังสือเดินทางราชการ และกรณีเร่งด่วนที่เกี่ยวกับทางด้านมนุษยธรรม รวมถึงการปรึกษา และการยื่นเอกสารเพิ่มเติม ที่สามารถติดต่อได้ที่แผนกกงสุล สถานทูตญี่ปุ่นเท่านั้น 

           วันและเวลาทำการ จันทร์ – ศุกร์ เวลา 08:30 น. - 12.00 น. และ 13:30 น. - 16:00 น. เลขที่ 177 ถนนวิทยุ ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

          เบอร์โทร 02-207-8503, 02-696-3003

           เวลายื่นคำร้อง วันจันทร์-ศุกร์  เวลา 08.30 น. – 11.15 น . 

          3. ที่ทำการไปรษณีย์ภูเก็ต : 12/16 ถ.มนตรี ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000

          4. ที่ทำการไปรษณีย์ศรีราชา : 7/1 ถ.เจิมจอมพล ต.ศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 20110

          5. ที่ทำการไปรษณีย์พระนครศรีอยุธยา : 123 ม.5 ถ.อู่ทอง ต.หอรัตนไชย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 13000

          6. ที่ทำการไปรษณีย์ระยอง : 125 ถ.สุขุมวิท ต.ท่าประดู่ อ.เมือง จ.ระยอง 21000

          7. ที่ทำการไปรษณีย์นครราชสีมา : 371 ถ.อัษฎางค์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา 30000

          8. ที่ทำการไปรษณีย์พิษณุโลก : 118 ถ.พุทธบูชา ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก 65000

          9. ที่ทำการไปรษณีย์ขอนแก่น : 153/8 ถ.กลางเมือง ต.ในเมือง อ.เมือง ขอนแก่น 40000

          10. ทำการไปรษณีย์อุบลราชธานี : 145 ถ.ศรีณรงค์ ต.ในเมือง อ.เมือง อุบลราชธานี 34000

          11. ที่ทำการไปรษณีย์เพชรบุรี : 4 ถ.ราชวิถี ต.คลองกระแชง อ.เมือง เพชรบุรี 76000

          12. ทำการไปรษณีย์สุราษฏร์ธานี : 291/1 ถ.ตลาดใหม่ ต.ตลาด อ.เมือง สุราษฎร์ธานี 84000

          13. ทำการไปรษณีย์หาดใหญ่ : 43 ถ.นิพัทธ์สงเคราะห์ 1 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ สงขลา 90110

ขอข้อมูลเพิ่มเติม

โทร. 02-632-1541

ระหว่างเวลา 08.30 น. – 17.30 น. วันจันทร์ – ศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการ
อีเมล info.jpth@vfshelpline.com

7 วิธี เที่ยวต่างประเทศอย่างปลอดภัย



          เราทุกคนต่างก็มีประเทศที่อยากลองไปเที่ยวด้วยกันทั้งนั้น เพราะบางครั้งเราก็อยากจะเปลี่ยนจากบรรยากาศแบบเดิม ๆ ออกไปศึกษาวัฒนธรรมใหม่ ๆ หรือลองทานอาหารต่างประเทศจากถิ่นกำเนิดดูบ้าง แต่ถึงอย่างนั้น นอกจากจะคิดถึงเรื่องสนุกแล้ว เราก็ควรห่วงความปลอดภัยของตัวเองด้วยเช่นกัน เพราะไม่ว่าประเทศไหน ๆ ก็มีพวกมิจฉาชีพที่หวังจะเอาเปรียบนักท่องเที่ยวซ่อนอยู่ด้วยทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เราจึงควรดูแลความปลอดภัยของตัวเองตลอดเวลา ด้วยการทำตามวิธีเหล่านี้...

 1. อย่าใส่เครื่องประดับโชว์ 

          เครื่องประดับมีราคาจากแบรนด์ดัง ๆ จะช่วยให้ผู้คนรอบข้างหันมาสนใจคุณมากขึ้น รวมถึงพวกมิจฉาชีพที่คุณอยากจะหลีกหนีด้วย เพราะเครื่องประดับพวกนี้ จะทำให้พวกเขาแน่ใจได้ว่าคุ้มค่าที่จะเสี่ยงปล้นคุณสักครั้ง เพราะของที่ได้ไปน่าจะขายได้ราคาแพงเลยทีเดียว ดังนั้น เก็บเครื่องประดับแพง ๆ ไว้ที่บ้านบ้างก็ได้ แล้วเลือกใส่กำไล้ข้อมือถักน่ารัก ๆ ราคาเบา ๆ สักเส้นก็ดูดีแล้ว

 2. เก็บเงินอย่างระมัดวัง

          อย่าถือเงินเดินไปมาจนเด่นสะดุดตา เมื่อใช้เงินเสร็จแล้วก็รีบเก็บใส่กระเป๋าทันที และกดเงินจากตู้ในธนาคารที่มีคนพลุกพล่านเท่านั้น เพื่อไม่ให้พวกโจรเข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้ ก็ไม่ควรเก็บเงินไว้ที่เดียวกันหมด แบ่งเก็บตามจุดต่าง ๆ เช่น ที่พัก พระเป๋าสตางค์ กระเป๋าเดินทาง หรือซ่อนไว้ตามอกเสื้อบ้างก็ได้ ถ้าเผื่อถูกขโมยขึ้นมาจริง ๆ จะได้มีเงินสำรองเหลือเผื่อไว้ใช้บ้าง

 3. พกเครื่องป้องกันตัวใส่กระเป๋าไปด้วย 

          สเปรย์พริกไทย เครื่องช็อตไฟฟ้า หรือมีดพกคงไม่หนักกระเป๋าคุณเท่าไหร่หรอก แต่มันจะช่วยให้คุณรู้สึกปลอดภัยขึ้นอีกมาก และยังสามารถเอามาใช้ป้องกันตัวในยามฉุกเฉินได้อีกด้วย เพราะฉะนั้น จัดที่ไว้ในกระเป๋าสำหรับของพวกนี้ด้วย บางทีคุณอาจจำเป็นต้องใช้มัน โดยเฉพาะผู้หญิงทั้งหลายยิ่งควรพกไปด้วยเป็นพิเศษ เพราะผู้หญิง (ส่วนใหญ่) ใช้กำลังของตัวเองชนะผู้ชายไม่ได้หรอก 

 4. เลี่ยงการเดินในที่เปลี่ยว

          แม้แต่ที่ซึ่งคุณคุ้นทางอยู่แล้วในประเทศตัวเอง คุณยังไม่ควรเดินในที่มืด ๆ คนน้อย ๆ ตามลำพังเลย แล้วถ้าไปเดินในที่แบบนี้ต่างเมืองล่ะก็ จะไม่ยิ่งอันตรายขึ้นอีกหรือ ที่แบบนี้แหละที่พวกโจรมักไปรวมตัวกัน รอดักเหยื่อที่เดินเข้ามา ดังนั้นพยายามอยู่ในที่มีคนพลุกพล่านเข้าไว้ อย่าเดินหรือจอดรถในที่เงียบ ๆ ไม่มีคนเด็ดขาด ไม่ว่ายังไงค่าจอดรถแพง ๆ ก็คุ้มค่ากว่าการถูกปล้นแน่นอนล่ะ

 5. ระวังในการบอกข้อมูล

          บอกข้อมูลส่วนตัวของคุณเฉพาะเวลาที่จำเป็นจริง ๆ เช่น ตอนที่ต้องกรอกเอกสารสำคัญ ๆ แต่อย่าเอาข้อมูลอย่างเบอร์ห้อง เบอร์โทรศัพท์ หรือที่อยู่ ไปพูดเสียงดังในระยะที่คนแปลกหน้าได้ยินเด็ดขาด เพราะเราไม่รู้หรอกว่า คนพวกนี้จะเป็นมิจฉาชีพแฝงตัวมาบ้างหรือเปล่า ซึ่งเขาอาจเอาข้อมูลของคุณไปใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด แบบที่คุณไม่คาดฝันมาก่อนเลยก็ได้

 6. ถ่ายเอกสารสำคัญไว้ให้ที่บ้าน

          แม้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่คุณก็อาจทำเอกสารที่ต้องใช้เช่นพาสปอร์ต หายหรือถูกขโมยไปได้ เพราะฉะนั้น ควรถ่ายเอกสารของพวกนี้เอาไว้ให้ครอบครัวหรือเพื่อนที่ไว้ใจได้ ซึ่งไม่ได้มาเที่ยวครั้งนี้กับคุณเก็บเอาไว้ด้วย เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ขอสำเนาจากพวกเขาได้ นอกจากนี้ ก็ควรทิ้งเบอร์ติดต่อที่พักไว้ให้พวกเขาด้วย เผื่อมีเหตุฉุกเฉินจะได้บอกให้คุณรู้ได้

 7. อย่าไว้ใจคนอื่นมากเกินไป

          อย่าไว้ใจคนอื่นมากเกินไป โดยเฉพาะคนแปลกหน้า เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าเขามาดีหรือมาร้าย และหวังจะหาประโยชน์จากเรายังไงบ้าง ดังนั้น ถ้าคุณรู้สึกได้ว่าเขาดูพยายามเข้าหาคุณมากเกินไป หรือรู้สึกได้ว่าเขาทำดีมากเกินจนไม่เป็นธรรมชาติ เชื่อสัญชาตญาณของตัวเองเอาไว้ และพยายามตีตัวห่างจากเขาจะดีกว่า นอกจากนี้ถ้าคุณรู้สึกว่ากำลังถูกคนแอบตาม ก็อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือ รีบไปในที่มีคนมาก ๆ และขอให้ใครช่วยทันทีจะดีกว่า

ขอวีซ่าจีน ง่ายนิดเดียว


ขอวีซ่าจีน ง่ายนิดเดียว!


          สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเรา ที่มีประชากรอยู่มากที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่แทบจะทุกประเทศในโลกใบนี้ ต้องติดต่อทำการค้าด้วย นอกจากจะมีศักยภาพในการผลิตสินค้าต่าง ๆ แล้ว ประเทศจีนยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ อาหารอร่อย อีกทั้งยังมีสินค้าราคาถูกอีกต่างหาก จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่จะมีคนเข้า-ออกประเทศจีนเป็นจำนวนมาก แต่ก่อนจะไปเยี่ยมเยียนเมืองจีน เรามาเตรียมตัวให้พร้อม ก่อนขอวีซ่าจีนกันดีกว่า วิธีการก็ไม่ยุ่งยากเลย เพียงแค่ทำตามขั้นตอนเหล่านี้...

  เอกสารขอวีซ่าจีน

           หนังสือเดินทางอายุไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และต้องมีหน้าว่าง
           แบบฟอร์มขอวีซ่าเข้าประเทศจีน
           รูปถ่ายสี ขนาด 2 นิ้ว เป็นรูปปัจจุบัน พื้นหลังสีฟ้า หน้าตรง ไม่สวมหมวก
หมายเหตุ : ควรเตรียมปากกาไปด้วย เพราะที่สถานทูตไม่มีบริการ แต่มีขายในราคา 10 บาท

  เอกสารเพิ่มเติมตามประเภทของวีซ่า

          1. วีซ่าท่องเที่ยว (ชนิด L) สำหรับนักท่องเที่ยว หรือผู้ที่ต้องการไปเยี่ยมญาติ
              ใบจองโรงแรม
              ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ
              หลักฐานการเงิน เช่น สมุดบัญชีธนาคาร
              หากไปเยี่ยมญาติ ต้องมีจดหมายรับรองจากญาติที่อยู่ในประเทศจีน

          2. วีซ่ากิจธุระ (ชนิด F) สำหรับผู้ที่ไปทำวิจัย ดูงานระยะสั้น ไม่เกิน 6 เดือน
              ใบจองโรงแรม
              ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ
              ใบรับรองการทำงาน
              จดหมายเชิญจากรัฐบาลจีน ฉบับจริง

          3. วีซ่านักเรียน (ชนิด X) สำหรับผู้ที่ต้องการไปศึกษาต่อ อบรม หรือฝึกงาน นานเกิน 6 เดือน
              แบบฟอร์มขอวีซ่าสำหรับนักเรียนต่างชาติ (JW 201 หรือ JW 202)
              ใบตอบรับการเข้าเรียน
              ใบตรวจร่างกายที่ออกโดยโรงพยาบาลรัฐทั้งต้นฉบับและสำเนา
              หนังสือเดินทางมีผลบังคับใช้ 18 เดือนขึ้นไป นับจากวันที่ยื่นขอวีซ่า
              หากต้องการไปเรียนชั้นประถมและมัธยม จะต้องมีพ่อแม่อยู่ในประเทศจีน หากไม่มีต้องมอบอำนาจอย่างเป็นทางการให้กับบุคคลที่อยู่ในประเทศจีน เป็นผู้ปกครองแทน โดยติดต่อได้ที่สถานทูตจีน

          4. วีซ่าทำงาน (ชนิด Z) สำหรับผู้ที่จะเข้าไปทำงานในประเทศจีน และญาติผู้ติดตาม
              ใบอนุญาตทำงานของชาวต่างชาติ
              หนังสือรับรองการเป็นตัวแทนของบริษัท
              จดหมายเชิญจากรัฐบาลจีน
              หนังสืออนุญาตของกระทรวงวัฒนธรรมและกรมวัฒนธรรมระดับมณฑล
              จดหมายขอวีซ่าจากสำนักงานฝ่ายวิเทศระดับมณฑล
              ใบตรวจร่างกาย

          5. วีซ่าผ่านเข้าเมือง (ชนิด G) สำหรับผู้ที่ต้องการผ่านเข้าประเทศแค่ชั่วคราว เช่น ผู้ที่ต้องต่อเครื่องบินไปยังประเทศอื่น
              วีซ่าที่ยังมีอายุการใช้งานของประเทศปลายทาง
              ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ ประเทศปลายทาง

          6. วีซ่าลูกเรือ (ชนิด C) สำหรับพนักงานบนเครื่องบิน เรือ และรถไฟ ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ระหว่างประเทศ
              หนังสือรับรองตามข้อตกลงของประเทศ

          7. วีซ่านักข่าว (ชนิด J) แบ่งออกเป็นวีซ่า J1 สำหรับนักข่าวที่อยู่ประจำในประเทศจีน และ วีซ่า J2 สำหรับนักข่าวที่ไปทำข่าวชั่วคราว
              หนังสือรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          8. วีซ่าตั้งถิ่นฐาน (ชนิด D) สำหรับผู้ที่ต้องการไปตั้งถิ่นฐานในจีน
              แบบฟอร์มรับรองการตั้งถิ่นฐาน


 ผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศจีน

              ผู้ป่วยโรคติดต่อ เช่น โรคเอดส์ โรคเรื้อน วัณโรค โรคทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น รวมถึงผู้ที่มีอาการทางประสาทด้วย
              ผู้ที่มีหลักประกันไม่พอต่อรายจ่ายที่เหมาะสมสำหรับการอยู่ในประเทศจีน
              ผู้ที่มีพฤติการณ์ต้องสงสัยก่อการร้าย
              ผู้ที่มีพฤติการณ์หนีภาษี ยาเสพติด และค้าประเวณี
              ผู้ที่เคยถูกรัฐบาลจีนไล่ออกจากประเทศ และยังไม่ครบกำหนดห้ามเข้าประเทศ


 สิ่งของต้องห้ามนำเข้าประเทศจีน

              อาวุธและของเลียนแบบ ดินระเบิด วัตถุระเบิด
              เงินปลอมและพันธบัตรปลอม
              ยาพิษชนิดรุนแรงทุกประเภท
              สิ่งตีพิมพ์ รูปภาพ แผ่นซีดี และอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อกระทบการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมจีน
              อาหารและยา ที่มีผลต่อสุขภาพคนและสัตว์


 ขั้นตอนการขอวีซ่าจีน

          1. การขอวีซ่าจีนนั้นจะไปด้วยตัวเอง หรือ ฝากใครยื่นเอกสารแทนก็ได้
          2. เตรียมเอกสารให้ครบถ้วน
          3. ไปยื่นเอกสารขอวีซ่าจีน ได้ที่ อาคาร AA Building ถนนรัชดาภิเษก ติดกับสถานทูตจีน ในวันจันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา09.00 – 11.30 น.
          4. รอเรียกบัตรคิว โดยให้คอยสังเกตเสียงกริ่ง และ ตัวเลข หน้าจอให้ดี ๆ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ได้ขานเรียก แค่ขึ้นหน้าจอเท่านั้น
          5. เจ้าหน้าที่จะตรวจเอกสารว่าครบถ้วนหรือไม่ ถ้าครบถ้วนเจ้าหน้าที่จะถามว่าต้องการรอกี่วัน โดยเสียค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน ถ้ารอ 4 วัน 1,000 บาท ถ้ารอ 2 วัน 1,800 บาท ถ้ารอรับเลย 2,200 บาท ให้บอกความต้องการต่อเจ้าหน้าที่ จากนั้นจะได้ใบรับเล่มพาสปอร์ตคืน ให้นำมายื่นต่อเจ้าหน้าที่ตามวันเวลาที่กำหนด
          6. เมื่อถึงกำหนด ให้ไปชำระเงิน (รับเฉพาะเงินสดเท่านั้น) และรับวีซ่ากับพาสปอร์ตคืน เป็นอันเสร็จสิ้น


 ค่าทำวีซ่าจีน

          1. แบบปกติ ใช้เวลารอ 4 วันทำการ

              วีซ่าเข้า-ออกครั้งเดียว (Single) 1,000 บาท

              วีซ่าเข้า-ออกสองครั้ง (Double) 2,000 บาท

              วีซ่าเข้า-ออกหลายครั้งใน 6 เดือน (Multiple Half Years) 3,000 บาท

              วีซ่าเข้า-ออกหลายครั้งใน 1 ปี (Multiple One Years) 4,500 บาท

          2. แบบเร่งด่วน ใช้เวลารอ 2 วันทำการ

              วีซ่าเข้า-ออกครั้งเดียว (Single) 1,800 บาท

              วีซ่าเข้า-ออกสองครั้ง (Double) 2,800 บาท

              วีซ่าเข้า-ออกหลายครั้งใน 6 เดือน (Multiple Half Years) 3,800 บาท

              วีซ่าเข้า-ออกหลายครั้งใน 1 ปี (Multiple One Years) 5,300 บาท

          3. แบบเร่งด่วนพิเศษ ใช้เวลารอ 1 วันทำการ (รอรับได้เลยตอนบ่าย)

              วีซ่าเข้า-ออกครั้งเดียว (Single) 2,200 บาท

              วีซ่าเข้า-ออกสองครั้ง (Double) 3,200 บาท

              วีซ่าเข้า-ออกหลายครั้งใน 6 เดือน (Multiple Half Years) 4,200 บาท

              วีซ่าเข้า-ออกหลายครั้งใน 1 ปี (Multiple One Years) 5,700 บาท


 แบบฟอร์มขอวีซ่าจีน แบบใหม่





  สถานที่ขอวีซ่าจีน จ.กรุงเทพฯ

          ที่อยู่ : ชั้น 2 อาคาร AA Building ปากซอยรัชดาภิเษก 3 ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10310

          โทรศัพท์ :  02-245-7033, 02-245-7036, 02-247-8970

          เวลาทำการ : ยื่นขอวีซ่า ตั้งแต่เวลา 09.00 – 11.30 น.
                              รับวีซ่า 15.00-16.00 น. วันจันทร์-วันศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

  สถานที่ขอวีซ่าจีน จ.เชียงใหม่
          ที่อยู่ : 111 ถ.ช่างหล่อ ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50100

          โทรศัพท์ :  053-280-380, 053-276-457, 053-276-125
          เวลาทำการ : ยื่นขอวีซ่าตั้งแต่เวลา 09.00 – 11.30 น.
                              รับวีซ่า 15.00-16.00 น. วันจันทร์-วันศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

  สถานที่ขอวีซ่าจีน จ.สงขล
          ที่อยู่ : เลขที่ 9 ถ.สะเดา จ.สงขลา 90110

          โทรศัพท์ : 074-322-034
          เวลาทำการ : ยื่นขอวีซ่าตั้งแต่เวลา 09.00 – 11.30 น. 
                              รับวีซ่า 15.00-16.00 น. วันจันทร์-วันศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)